วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

การแรเงา







การแรเงา คือ การสร้างรอยดินสอ ปากกาหรืออื่นๆ ด้วยการควบคุมน้ำหนักผ่อนหนักเบาในการ ขีด เขียน เกลี่ย ปาด ทับ ไขว้ และใช้รอยเหล่านี้สร้างน้ำหนักให้เกิดลักษณะผิวของธรรมชาติ หรือหุ่นที่ใช้ในการเขียน การแรเงาจึงเป็นการสร้างความเข้มด้วยระยะต่างๆ ในรูปทรงของงานชิ้นหนึ่งๆ เมื่อใช้ตามลักษณะแสงเงาจะทำให้เกิดมิติของมวลสารและระยะ หรือปริมาณมาตรของรูปทรง น้ำหนักที่ไล่เรียงจากอ่อนไปหาแก่อย่างสม่ำเสมอนี้ เรียกว่า ค่า (VALUE) ของสีหรือน้ำหนักที่ระบายเป็นระยะอ่อน กลาง แก่ ค่าของระยะอ่อนแก่เหล่านี้นิยมเรียกกันว่า น้ำหนัก

การแรเงาน้ำหนักจึงเป็นการสร้างเงาในภาพ ให้ดูมีความลึกมีระยะใกล้ไกลและดูมีปริมาตร เปลี่ยนค่าของรูปร่างที่มีเพียง 2 มิติให้เป็น 3 มิติ ทำให้รูปร่างที่มีเพียงความกว้าง-ยาวเปลี่ยนค่าเป็นรูปทรงมีความตื้นลึกหนาบางเกิดขึ้น ความตื้นลึกหนาบางนี่เป็นความรู้สึกเท่านั้น และการทำให้เกิดภาพเช่นนี้ก็คือ เทคนิคในการสร้างภาพลวงตา (ILLUSION) เป็นวิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างหนึ่ง

น้ำหนักในการวาดเขียนจึงมีความหมายดังนี้
1. บริเวณมืดและสว่างขององค์ประกอบต่างๆ ในภาพเขียน
2. แสดงความอ่อนแก่ระดับต่างๆ จากดำมาขาวให้แก่รูปทรงที่มีอยู่ในภาพ นัยหนึ่งคือ ทำหน้าที่แสงเงาให้แก่รูปทรง

ลักษณะของน้ำหนัก จะเป็นดังนี้
1. มี 2 มิติ คือ กว้างกับยาว
2. มีทิศทาง
3. มีความยาว ความสั้น ความโค้ง หรือเป็นคลื่น ฯลฯ
4. มีรูปร่าง กลม เหลี่ยม หรืออิสระตามลักษณะของรูปทรง
5. มีความอ่อน แก่ และลักษณะผิวต่างๆ ตามแบบหรือหุ่นที่วาด

หน้าที่ของน้ำหนัก ในการวาดเขียนจำแนกออกได้ ดังนี้
1. ให้ความแตกต่างระหว่างรูปทรงกับพื้นที่ หรือรูปทรงกับที่ว่าง
2. ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวต่อการนำสายตาผู้ดู บริเวณที่น้ำหนักตัดกันจะดึงดูดความสนใจ ถ้าตัดกันหลายแห่งจะนำสายตาให้เคลื่อนที่จากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่ง ทั้งนี้จะเป็นไปตามจังหวะที่ผู้เขียนกำหนดไว้นั่นเอง ซึ่งอาจกลมกลืนหรือตัดกันอย่างรุนแรง
3. ให้ความเป็น 2 มิติ หรือ 3 มิติแก่รูปทรง
4. ให้ความรู้สึกในภาพ ด้วยการประสานกันของน้ำหนัก
5. ให้ความลึกแก่ภาพ

แนวคิดในการแรเงาน้ำหนัก
เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ เพราะอาศัยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ หรือต้นแสงจากแหล่งกำเนิดอื่น เมื่อมีแสงสว่างก็ต้องมีเงาควบอยู่ด้วย และแสงเงาทำให้เรามองเห็นวัตถุที่ผิวสีเดียวกันมีน้ำหนักแตกต่างกัน เช่น วัตถุสีขาวส่วนที่ถูกแสงจะเป็นสีขาวสว่างจ้า แต่ส่วนที่ไม่ถูกแสงจะขาวหม่น ทั้งที่วัตถุนั้นก็เป็นสีขาวเท่ากันตลอดพื้นผิว
เมื่อธรรมชาติของแสงเงาให้ผลที่มองเห็นเช่นนี้ ผู้เขียนจำต้องเข้าใจการจัดน้ำหนักอ่อนแก่ให้ได้ใกล้เคียงกับน้ำหนักของแสงที่ตกกระทบผิววัตถุ เพราะความแตกต่างของน้ำหนักทำให้เกิดความรู้สึกที่ต่างกันไปได้ เช่น น้ำหนักสีที่อ่อนให้ความรู้สึกเบา น้ำหนักสีที่แก่ทำให้ดูแล้วรู้สึกหนัก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดระยะต่างๆ ในการมองเห็น ตลอดจนความรู้สึกด้านความงามในทางศิลปะ

เทคนิคการแรเงาน้ำหนักที่นิยมใช้กัน

1. ให้แสงเข้าทางด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นเงา เป็นวิธีการที่ใช้ในการเขียนภาพเหมือนจริงทั่วไป
2. ให้แสงเข้าตรงหน้า ส่วนที่อยู่ใกล้จะมีน้ำหนักอ่อน ส่วนที่อยู่ไกลจะมีน้ำหนักแก่ น้ำหนักที่ใช้ในวิธีนี้เรียกว่า จิอารอสคูโร (CHIAROSCURO) เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า ความสว่างและความมืด อันต่างไปจากการให้ปริมาตรของรูปทรงด้วยการให้แสงเงาทั่วไป
3. กำหนดให้แสงขึ้นจากจุดกลางภาพ ส่วนมากจะใช้แสงเทียนหรือแสงไฟฟ้า
4. ให้แสงเกิดขึ้นในจุดที่ต้องการ ส่วนอื่นให้อยู่ในเงามืด
5. ให้แสงกระจายเลื่อนไหลไปทั่วภาพ เน้นความใกล้ ไกล ลึก ตื้นด้วยบรรยากาศของน้ำหนักจนเกือบไม่คำนึงถึงปริมาตรของรูปทรง
6. ให้น้ำหนักอ่อนทั้งรูปและพื้น ไม่เน้นปริมาตรของรูปทรง แต่เน้นความสว่างของแสงให้จ้า ไม่มีเงา
7. ให้แสงเต้นระริกกระจายไปทั่วๆ ภาพ

ลักษณะของแสงเงาที่ใช้ในการวาดเขียนแบ่งออกเป็น 6 ค่า

1. แสงสว่างที่สุด (HIGH LIGHT) เป็นบริเวณที่วัตถุกระทบแสงโดยตรง ทำให้ส่วนนั้นมีน้ำหนักอ่อนที่สุด ถ้าวัตถุเป็นสีขาวบริเวณนั้นจะปล่อยว่าง ไม่ต้องลงเงาก็ได้
2. แสงสว่าง (LIGHT) เป็นบริเวณที่ไม่ถูกแสงโดยตรง แต่มีบางส่วนที่ได้รับอิทธิพลจากแสง การลงน้ำหนักบริเวณนี้ต้องให้อ่อนจางแต่แก่กว่าบริเวณแสงสว่างที่สดุดเล็กน้อย
3. แสงสะท้อน (REFLECTED LIGHT) เป็นบริเวณของวัตถุที่ไม่ได้กระทบแสงโดยตรง หากอยู่ในตำแหน่งที่เป็นเงาแต่ถูกแสงสะท้อนจากวัตถุที่อยู่ใกล้ๆ กันมากระทบ น้ำหนักของบริเวณนี้จะอ่อนกว่าบริเวณที่เป็นเงา ค่าของแสงสะท้อนจะให้ความรู้สึกในภาพมีมิติ มีมวลสาร มีชีวิตชีวา ดูเหมือนมีอากาศอยู่รอบๆ
4. เงา (DARK) เป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลของแสงน้อยมาก ซึ่งเงาบริเวณนี้จะต้องแรเงาให้มีน้ำหนักเข้มกว่าบริเวณแสงสว่างพอประมาณ พอที่จะแยกแสงและเงาออกจากกันได้
5. เงามืด (DARKEST) เป็นบริเวณที่ไม่ได้รับอิทธิพลของแสงจึงต้องแรเงาด้วยน้ำหนักที่เข้มกว่าบริเวณอื่นๆ ทั้งหมดของวัตถุ
6. เงาตกทอด (CAST SHADOW) เป็นบริเวณที่เงาของวัตถุนั้นๆ ทอดไปตามพื้นที่รองรับวัตถุ โดยจะมีน้ำหนักแก่กว่าบริเวณแสงสะท้อน ขนาดและรูปร่างของเงาตกทอดจะขึ้นอยู่กับทิศทางของแสง รูปร่างของวัตถุและพื้น

เทคนิคการแรเงาน้ำหนัก

เมื่อตรวจแก้ไขข้อบกพร่องของภาพร่างดีแล้ว และเป็นภาพร่างที่พร้อมจะแรเงาน้ำหนักการกำหนดแสงเงาบนวัตถุในภาพร่างซึ่งมีรูปทรงต่างๆ นั้น อาจลำดับขั้นตอนของกระบวนการได้ ดังนี้
1. หรี่ตาดูวัตถุที่เป็นหุ่น กำหนดพื้นที่แบ่งส่วนระหว่างแสงเงาออกจากกันให้ชัดเจนด้วยเส้นร่างเบาๆบนรูปทรงของภาพร่างที่วาดไว้นั้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคร่าวๆ คือ แสงกับเงาเท่านั้น
2. แรเงาน้ำหนักในส่วนพื้นที่ที่เป็นเงาทั้งหมด ด้วยน้ำหนักเบาที่สุดของเงาที่ตกทอดบนวัตถุ และเว้นพื้นที่ส่วนที่เป็นแสงไว้
3. พิจารณาเปรียบเทียบน้ำหนักที่เบาที่สุดกับน้ำหนักที่เข้มในส่วนขึ้นอีกเท่าใด แล้วแบ่งน้ำหนักเงาที่อ่อนกับเงาที่เข้มขึ้นด้วยวิธีร่างเส้นแบ่งพื้นที่เบาๆ เช่นกันกับข้อ 1 จากนี้ก็แรเงาเพิ่มน้ำหนักในส่วนที่เข้มขึ้น ตลอดเวลาจะต้องเปรียบเทียบน้ำหนักของเงาที่ลงใหม่กับเงาอ่อนและแสงที่เว้นไว้อยู่เสมอเพื่อให้การแรเงาน้ำหนักได้ใกล้เคียงความเป็นจริง การแรเงาน้ำหนักต้องลงรวมๆ ไปทีละน้ำหนัก จะทำให้คุมน้ำหนักได้ง่าย
4. การแรเงาน้ำหนักที่เข้มขึ้นจะใช้วิธีการเดียวกับข้อ 1 และข้อ 3 จนครบกระบวนการจะทำให้ได้ภาพที่มีน้ำหนักแสงเงาใกล้เคียงกับความเป็นจริงจากนั้นเกลี่ยน้ำหนักที่แบ่งไว้ในเบื้องต้นให้ประสานกลมกลืนกัน
5. พิจารณาในส่วนของแสงที่เว้นไว้ จะเห็นว่ามีน้ำหนักอ่อนแก่เช่นเดียวกับในส่วนของเงาต้องใช้ดินสอลงน้ำหนักแผ่วๆ ในส่วนของแสงที่เว้นไว้ เพื่อให้รายละเอียดของแสงเงามีน้ำหนักที่สมบูรณ์
6. เงาตกทอด ใช้หลักการเดียวกับการแรเงาน้ำหนักบนวัตถุที่กล่าวมาแล้ว แต่ต้องสังเกตทิศทางของแสงประกอบการเขียนแสงในการวาดเขียนปกติจะใช้ประมาณ 45 องศา กับพื้น แต่มีข้อสังเกต คือ ถ้าแสงมาจากมุมที่สูง จะเห็นเงาตกทอดสั้น ถ้าแสงมาจากมุมที่ต่ำลง เงาตกทอดจะยาวขึ้นในส่วนน้ำหนักของเงาตกทอดเองก็จะมีน้ำหนักอ่อนแก่เช่นเดียวกับแสงเงาบนวัตถุคือเงาที่อยู่ใกล้วัตถุจะมีความเข้มกว่าเงาที่ทอดห่างตัววัตถุสาเหตุมาจากแสงสะท้อนรอบๆ ตัววัตถุที่สะท้อนเข้ามาลบเงาให้จางลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น