วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

มรดกวัฒนธรรมไทย


๑. โบราณวัตถุ

๑.๑ พระปางมารวิชัย
พระพุทธรูปปางมารวิชัยพระประธานในห้องทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างหล่อด้วยทองสำริดซึ่งนายบำเพ็ญ ณ อุบล
ข้าราชการบำนาญ สำนักงานอัยการพิเศษ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานวัฒนธรรมจังหวัดยโสธร นำมามอบให้จังหวัดหนองบัวลำภู ในนามทายาทลูกหลาน
"พระวอ พระตา" เมื่อครั้งกระทำพิธีสถาปนาจังหวัดหนองบัวลำภู วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ โดย ฯพณฯ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประธานพิธีเป็นผู้รับมอบ และนายประภา ยุวานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู คนแรก เป็นผู้นำไปประดิษฐานไว้ ณ ห้องทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด
เพื่อความเป็นศิริมงคล และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง







๑.๒ พระบางวัดมหาชัย
เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ จำนวนหนึ่งคู่ เป็นโบราณวัตถุที่สำคัญของจังหวัด เก็บรักษาอยู่ที่วัดมหาชัย หมู่ที่ ๓ ตำบลลำภู อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู
หล่อด้วยทองสีดอกบวบ มีอักษรจารึกอยู่ที่ฐานเป็นภาษาขอม หรือที่ชาวเมืองเรียกกันว่า "อักษรธรรม" บอกชื่อผู้สร้างและวันเดือนปีที่สร้างอ่านได้ความว่า
"สังกาดได้ร้อยแปดสิบห้าตัว ปีกาเมด เดือนยี่ แรม ๑๕ ค่ำ วันหก แม่อวนพ่ออวนผัวเมียมีศรัทธาสร้างไว้ในพระศาสนา" เมื่อพิเคราะห์ดูตามภาษาที่ใช้จารึกนั่นแล้ว
เป็นภาษาไทยเหนือ เพราะใช้ศกนับตามอย่างข้างจีน และใช้จุลศักราชอย่างไทย เมื่อคำนวณดูตามปีที่สร้างแล้วก็คงสร้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๖ วันศุกร์ แรม ๑๕ ค่ำ
เดือนยี่ ปีมะแม สัมฤทธิศก คำว่าสังกาด คงจะหมายถึง จุลศักราช กา หมายถึง สัมฤทธิศก เมด หมายถึง ปีมะแม เพราะภาษาทางไทยเหนือ วิธีนับปีเอาศก
ไว้ข้างหน้า เช่นปีชวด เอกศก ใช้คำว่า "กาบใจ้" อย่างนี้เป็นต้น
พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ ชาวหนองบัวลำภูนับถือมาก เมื่อใดฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลเกิดความแห้งแล้งขึ้น ชาวเมืองก็จะพากันอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสอง
องค์นี้ ขึ้นประดิษฐานบนเกวียนสมัยที่ยังไม่มีรถยนต์ แล้วทำพิธีแห่รอบหนองบัวเพื่อขอฝน ในวันที่ทำพิธีนั้นถึงแม้ดินฟ้าอากาศจะแจ่มใส ไม่มีเมฆหมอกบดบัง
พระอาทิตย์เลยก็ตาม ฝนจะตกลงมาไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่งในขณะที่กำลังแห่อยู่นั้นเอง ในปัจจุบันนี้เมื่อถึงเทศการสงกรานต์ ทางราชการจะจัดรถยนต์อัญเชิญ
ประดิษฐานในรถยนต์ แห่พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้รอบถนนด้านในเขตเทศบาล สายต่างๆ ไปเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำและสักการะบูชาตามควรแก่การปฏิบัติของ
พุทธศาสนิกชน ซึ่งเป็นการทำติดต่อกันมามิได้ขาดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน







๑.๓ พระราชศรีสุมังค์หายโศก
ประดิษฐานที่อุโบสถวัดหายโศก บ้านลำภู อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู สันนิษฐานว่า เป็นพระพุทธรูปที่สร้างรุ่นเดียวกันกับ พระไชยเชษฐา วัดถ้ำสุวรรณคูหา
และวัดศรีคูณเมือง สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๑๐๖ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เจ้าเมืองและชาวเมืองเคารพนับถือมาก ใช้เป็นพระประธานในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาและ
ดื่มน้ำสาบาน





๑.๔ พระไชยเชษฐา วัดถ้ำสุวรรณคูหา
เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง สร้างโดยพระไชยเชษฐาธิราช ประมาณปี พ.ศ. ๒๑๐๖ ประดิษฐานที่วัดสุวรรณคูหา อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู
นอกจากพระพุทธรูปองค์นี้แล้วยังมีพระซึ่งแกะสลักจากหินอยู่ที่วัดถ้ำสุวรรณคูหานี้จำนวนมาก มีศิลาจาลึกอยู่ ๓ หลัก ซึ้งได้นำจารึกไปไว้ในเรื่องภาษาและ
วรรณกรรมโดยละเอียดแล้ว

๑.๕ พระไชยเชษฐาวัดศรีคูณเมือง
เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ประดิษฐานในพระธาตุที่มีศิลปะคล้ายกับพระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลย สันนิษฐานว่าพระไชยเชษฐาธิราชทรงสร้างไว้ในรุ่นเดียวกับ
พระไชยเชษฐาวัดถ้ำสุวรรณคูหา ปัจจุบันวัดศรีคูณเมือง ตำบลลำภู อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ได้สร้างศาลาครอบพระธาตุไว้อีกชั้นหนึ่ง
สำหรับวัดศรีคูณเมืองนี้มีซากเทวสถาน และเสมาหินของขอมหันหน้าไปทางประเทศกำพูชา ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรในสมัยที่สร้าง
ควรที่กรมศิลปกรจะมาสำรวจ และขึ้นทะเบียนไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน





๑.๖ เสมาหินวัดถ้ำสุวรรณคูหา
จำนวน ๓ หลักอยูที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู มีรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องของจารึกแล้ว

๑.๗ เสมาหินวัดศรีคูณเมือง
วัดศรีคูณเมือง อำเภอเอง จังหวัดหนองบัวลำภู ตั้งอยู่รายรอบซากเทวสถานวัดศรีคูณเมืองทั้ง ๔ ทิศ

๑.๘ กลุ่มเสมาหินวัดภูน้อย
วัดสันติธรรมบรรพต อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู มีทั้งหมด ๘ กลุ่ม วางไว้ทั้ง ๘ ทิศ แต่ละกลุ่มมีเสมาหินจำนวน ๔ ใบ บางใบมีจารึก บางใบมีการ
แกะสลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์และรูปคล้ายเจดีย์ ใบที่พิเศษที่สุด คือ มีรูปลูกศร ๔-๕ ดอก สันนิษฐานว่ากลุ่มเสมาหินเหล่านี้ ฝังอยู่รายรอบเทวสถานของขอม
เหมือนกับเสมาหินวัดศรีคูณเมือง

๑.๙ พระพุทธรูปบุเงินบุทองและพระพุทธบรรฑูรนิมิตร
วัดถ้ำกลองเพล บริเวณถ้ำที่พบปรากฏมีวัตถุโบราณหลายอย่าง เช่น หม้อลายคราม มีดขวาน กล่องยาสูบ มีลวดลายงามมาก สำหรับวัดถ้ำกลองเพลแห่งนี้นอกจาก
จะเป็นวัดหลวงปู่ขาว อนาลโย พระอริยสงฆ์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ปรมาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ตามประวัติของวัดในอดีตนั้นเคยเป็นเทวสถาน
ของขอมเหมือนกับโบราณสถานต่าง ๆ ในจังหวัดหนองบัวลำภูอีกด้วย

๒. โบราณสถาน

๒.๑ วัดศรีคูณเมือง
เดิมชื่อ วัดคนชุมน้ำออกบ่อ ปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ที่บ้านเหนือ ถนนวรราชภักดี หมู่ที่ ๕ ตำบลลำภู อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู สังกัดคณะสงฆ์ฝ่าย
มหานิกาย สร้างเมือ ปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เดิมเป็นวัดโบราณที่สร้างในสมัยที่ดินแดนแถบบนนี้เป็นที่อยู่ของชาติขอม ละว้า และลาว มีซากอุโบสถเก่าแก่
มีใบเสมาเป็นภูเขา ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปอยู่ในสถูปเรียกว่า "หลวงพ่อพระไชยเชษฐา"

๒.๒ วัดมหาชัย
เดิมชื่อ วัดมหาธาตุไตรยภูมิ สันนิษฐานว่า มหาธาตุซึ่งปัจจุบันเหลือแต่เพียงกองดินขนาดใหญ่อยู่เยื้องกับอุโบสถของวัด เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของเจ้าปางคำ
เจ้าปงคำ และเจ้าแท่นคำ อดีตเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ปัจจุบันนี้ตั้งอยู่บ้านหัวยเชียง หมู่ที่ ๓ ตำบลลำภู อำเภอหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู
สังกัดคระสงฆ์ธรรมยุตินิกาย สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นวัดที่พระอาจารย์แสง ธมฺมธีโร ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน รูปแรกของคณะธรรมยุติได้ชักชวนชาวบ้าน
สร้างขึ้น และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์
พ.ศ.๒๕๐๙

๒.๓ วัดโพธิ์ชัยสมสะอาด
เดิมชื่อ วัดพระเรืองชัยสมสะอาด เรียกตามชื่อพระประธานในอุโบสถ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่บ้านจิก หมู่ที่ ๓ ตำบลหนองบัว อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู
สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นวัดที่ริมหนองบัว

๒.๔ วัดหายโศกบ้านลำภู
เดิมชื่อ วัดพระราชศรีสุมังค์หายโศก ซึ่งเป็นประธานในพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาและดื่มน้ำสาบานของชาวเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานในอดีตดังกล่าวแล้ว

๒.๕ วัดธาตุหาญเทาว์
ปัจจุบันตั้งอยู่ตำบลบ้านขาม อำเภอเมืองหนองบัวลำภู สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายเดิมเป็นวัดฝ่ายคณะธรรมยุติสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ เคยเป็นวัดร้าง
ต่อมาพระมหาสุตันสุตาโณ ได้มาบูรณะขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ และเปลี่ยนเป็นวัดฝ่ายมหานิกายภายในวัดมีปูชนียสถานที่สำคัญ คือพระธาตุเจดีย์
รูปแปดเหลี่ยมสันนิษฐานว่าข้างในบรรจุอัฐิธาตุของพระอรหันต์ ซึ่งชาวจังหวัดหนองบัวลำภูเคารพนับถือมาก

๒.๖ เจดีย์โบราณและซากอุโบสถโบราณ วัดพระธาตุเมืองพิณ
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่บ้านโนนธาตุ หมู่ที่ ๗ ตำบลฝั่งแดง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู มีเนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๑ งาน สร้างเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๒
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๙ ห่างจากที่ว่าการอำเภอนากลาง ๖ กิโลเมตร

๒.๗ รอยพระบาทและกลุ่มเสมาหินในสมัยขอม วัดสันติธรรมบรรพต
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่บ้านภูน้อย ตำบลนากลาง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ สร้างเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้รับ
พระราชทาน วิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๖ อยู่หางจากที่ว่าการอำเภอนากลาง ๑.๕กิโลเมตร ปัจจุบันหลวงพ่อฤาษี ได้พัฒนาให้มี
ความสงบร่มเย็นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมจนเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของจังหวัด

๒.๘ วัดป่าโนนคำวิเวก
ปัจจุบันตั้งอยู่บ้านทุ่งสว่าง ตำบลนาด่าน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย มีเนื้อที่ ๑๒ ไร่ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ เดิมเป็น
วัดโบราณ ประชาชนเรียกกันว่าวัดโนนคำน้อย เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือต่อกันมาเป็นเวลานาน ภายในวัดมีซากวัตถุโบราณและเจดีย์อีก
๓ องค์

๒.๙ วัดถ้ำสุวรรณคูหา
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่บ้านคูหาพัฒนา ตำบลนาสี อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู สังกัดฝ่ายมหานิกาย มีเนื้อที่ ๑๐๓ ไร่ บูรณะเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ เดิมเป็นวัดร้าง
ตามศิลาจารึกหน้าถ้ำ กล่าวไว้ว่าสร้างเมื่อ พุทธศักราช ๒๑๐๖ โดยพระไชยเชษฐาธิราช และได้รับพระราชธานวิสุงคามสีมาเมือวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๑
มีถ้ำขนาดใหญ่ เล็ก ประมาณ ๔๐ ถ้ำ

๒.๑๐ วัดป่าสามัคคีสิริวัฒนาราม (กุดโพนทัน)
เป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณกาล มีซากอุโบสถ และโบราณวัตถุหลายชิ้น ที่โดยอายุสันนิษฐานว่า คงจะสร้างสมัยเดียวกับเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน
เพราะซากอิฐและโบราณวัตถุมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ ๒๐๐ ไร่ มีพื้นที่ป่าสมบูรณ์มาก เป็นสวนยาสมุนไพรที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด
หนองบัวลำภู เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐาน สายวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์บำบัดผู้ติดสุราและบุหรี่

๒.๑๑ วัดบ้านสมสนุก
ตั้งอยู่ที่บ้านสมสนุก ตำบลนากอก อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู ประวัติไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจน องค์ประกอบได้แก่ ซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ
มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งเหลืออยู่เพียงส่วนฐานรากโดยทางวัดได้สร้างอาคารไม้ชั่วคราวคร่อมทับโบราณสถานอยู่ สาระสำคัญมีหลักฐานว่าบริเวณนี้
เคยมีพระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะขอม จึงอาจกล่าวได้ว่า ในเบื้องต้นโบราณสถานวัดสมสนุกนี้น่าจะเคยเป็นศาสนสถานตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘
และต่อมาได้มีการสร้างเสริม หรือโบสถ์ในสมัยล้านช้าง คือ ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ -๒๔ จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน

๒.๑๒ สิมวัดเจริญทรงธรรม
ตั้งอยู่บ้านดอนปอ ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ตั้งตามแผนที่ทหาร มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ลำดับ ชุด L๗๐๑๗ ระหว่าง ๕๔๔๒|
รุ้ง ๑๖ ๕๕ เหนือ แวง ๑๐๒ ๒๓ ตะวันออก ไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจนว่าสร้างในสมัยใด องค์ประกอบทางโบราณคดี คือ สิมสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง มีลักษณะ
ที่สำคัญคือเป็นสิมไม้ที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งในภาคอีสานสิมประเภทที่สร้างด้วยไม้เป็นประเภทที่พบค่อนข้างน้อย ปัจจุบันยังมิได้
รับการขึ้นทะเบียน ซึ่งน่าเสียดายถ้าหากว่าปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมไปมากกว่านี้ เพราะสิมไม้แห่งนี้มีคุณค่าไม่น้อยกว่าโบสถ์ไม้ของพวกไวกิ้งส์ในประเทศสวีเดน

๓. แหล่งโบราณคดี

๓.๑ แหล่งโบราณคดีโนนพร้าว
ตั้งอยู่ที่บ้านกุดคอเมย ตำบลกุดดู่ จังหวัดหนองบัวลำภู ตำแหน่งตามแผนที่ทหาร คือมาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ลำดับชุด L ๗๐๑๗ ระหว่าง ๕๔๔๒ IV Latitude
๑๖ องศา ๕๗ ลิปดา ๑๐ ฟิลิปดาเหนือ Longitude ๑๐๒ องศา ๓๘ ลิปดา ๓๘ ฟิลิปดาตะวันออก กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔ และทำการ
ขุดค้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ ลักษณะของโบราณสถาน มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๕๐ เมตร สูงประมาณ ๒ เมตร จากที่ราบโดยรอบ พบหลักฐาน
ต่อเนื่องตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดีและล้านช้าง และจากการศึกษาเปรียบเทียบโบราณวัตถุกับแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง สามารถกำหนดอายุประมาณ
๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว และโบราณวัตถุวัฒนธรรมล้านช้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔

๓.๒ แหล่งโบราณคดีโนนดอนกลาง (โนนป่ากล้วย)
ตั้งอยู่ที่บ้านกุดกวางสร้อย ตำบลบ้านถิ่น อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ตำแหน่งตามแผนที่ทหาร คือ มาตราส่วน ๑: ๕๐,๐๐๐ ลำดับชุด L๗๐๑๗ ๕๔๔๒ IV
Latitude ๑๖ องศา ๕๗ ลิปดา ๔๐ ฟิลิปดาเหนือ Longitude ๑๐๒ องศา ๓๗ ลิปดา ๑๕ ฟิลิปดาตะวันออก ประวัติการขุดค้นนายวิลเลี่ยม โซฟเฟลอร์ ขออนุญาต
กรมศิลปากร ขุดค้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น ขุดค้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที ๗ ขอนแก่นร่วมกับ
สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดหนองบัวลำภู สำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ ลักษณะของโบราณสถาน เนินดินขนาด ๑๕๕ X ๒๐๐ เมตร สูงประมาณ ๒- ๓ เมตร จากที่ราบ
โดยรอบพบหลักฐานต่อเนื่องตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ทวารวดีและล้านช้างผลจากการขุดค้นสามารถกำหนดอายุ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว และหลักฐานทางโบราณคดี
ล้านช้าง อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔

๓.๓ แหล่งโบราณคดีโนนสัง
ตั้งอยู่ที่บ้านกุดคอเมย ตำบลกุดดู่ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ตำแหน่งตามแผนที่ทหาร คือ มาตราส่วน ๑: ๕๐,๐๐๐ ลำดับชุด L ๗๐๑๗ ระหว่าง ๕๔๔๒
IV Latitude ๑๖ องศา ๑๗ ๐๖ ฟิลิปดาเหนือ Longitude ๑๐๒ องศา ๒๓ ลิปดา ๐๕ ฟิลิปดาตะวันออก ประวัตติการขุดค้นโครงการโบราณคดีประเทศไทย
(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ ลักษณะโบราณสถาน เป็นเนินดินที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕๐ เมตร ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดี
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานที่พบได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผาทั้งแบบเรียบและแบบแตกต่างการเขียนสีและวาดลวดลาย ต่างๆ แวดินเผา หินบดยา
เครื่องมือเหล็ก และเครื่องประดับสำริด อายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว

๓.๔ แหล่งโบราณคดี ถ้ำเสือตก
ตั้งอยู่ที่บ้านวังมน ตำบลโคกม่วง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ตำแหน่งตามแผนที่ทหาร คือ มาตราส่วน ๑: ๕๐,๐๐๐ ลำดับชุด L ๗๐๑๗ ระหว่าง ๕๔๔๒
IV Latitude ๑๖ องศา ๕๕ ลิปดา ๐๐ ฟิลิปดาเหนือ Longitude ๑๐๒ องศา ๒๘ ลิปดา ๐๕ ฟิลิปดาตะวันออก ประวัติการขุดค้น โครงการโบราณคดีประเทศไทย
(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ลักษณะทางโบราณคดี ภาพเขียนทางสีเป็นลายลายเส้นและภาพมือ รวมทั้งภาพสลักเป็นภาพลายเส้น
สันนิษฐานว่าเขียนและสลักขึ้นสมัยก่อนประวัติศาสตร์

๓.๕ แหล่งโบราณคดี ถ้ำจันได
ตั้งอยู่ที่บ้านวังมน ตำบลโคกม่วง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ตำแหน่งตามแผนที่ทหาร คือ มาตราส่วน ๑: ๕๐,๐๐๐ ลำดับชุด L ๗๐๑๗ ระหว่าง ๕๔๔๒
IV Latitude ๑๖ องศา ๔๖ ลิปดา ๐๖ ฟิลิปดาเหนือ Longitude ๑๐๒ องศา ๒๘ ลิปดา ๐๐ ฟิลิปดาตะวันออก ประวัติการขุดค้น โครงการโบราณคดีประเทศไทย
(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ลักษณะทางโบราณคดี มีลักษณะเป็นก้อนหินรูปทรงสามเหลี่ยมที่มีภาพเขียนสีบนพื้นผิวหิน ลักษณะปลีกย่อย
ภาพเขียนสีด้วยสีแดงแบบเงาทึบ เป็นภาพคล้ายหมีและภาพต้นข้าวสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์

๓.๖ แหล่งโบราณคดี ถ้ำพลานไฮ
ตั้งอยู่ที่บ้านวังมน ตำบลโคกม่วง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ตำแหน่งตามแผนที่ทหาร คือ มาตราส่วน ๑: ๕๐,๐๐๐ ลำดับชุด L ๗๐๑๗ ระหว่าง ๕๔๔๒
IV Latitude ๑๖ องศา ๕๕ ลิปดา ๐๐ ฟิลิปดาเหนือ Longitude ๑๐๒ องศา ๒๗ ลิปดา ๐๐ ฟิลิปดาตะวันออก ประวัติการขุดค้น คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัย
ศิลปากร สำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ ลักษณะทางโบราณสถานเพิงหินที่มีภาพเขียนผนังหินจำนวน ๓ จุด ลักษณะปลีกย่อย ภาพสีเป็นภาพมือทาบ และภาพลายเส้น
สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นสมัยก่อนประวัติศาสตร์





๓.๗ แหล่งโบราณคดี ถ้ำอาจารย์สิม
ตั้งอยู่ที่ วัดพระพุทธบาทภูเก้า เขาศิริวงกต บ้านดกบาก ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอโนนสัง จ.หนองบัวลำภู ตำแหน่งตามแผนที่ทหาร คือ มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐
ลำดับชุด L ๗๐๑๗ ระหว่าง ๕๔๔๒ IV Latitude ๑๖ องศา ๕๔ ลิปดา ๑๒ ฟิลิปดาเหนือ Longitude ๑๐๒ องศา ๒๘ ลิปดา ๐๑ ฟิลิปดาตะวันออก ประวัติการ
ขุดค้น คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร สำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๗ ขอนแก่น สำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐
ลักษณะทรงโบราณสถาน เป็นเพิงหินริมหน้าผาที่มีภาพเขียนสีบนผนังหิน ลักษณะปลีกย่อย ภาพเขียนสีแบบลายเส้นโครงร่างภายนอก เป็นภาพคล้ายคนและ
ภาพคล้ายปลา สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์

๓.๘ แหล่งโบราณคดี ถ้ำมึ้ม
ตั้งอยู่ที่ วัดพระพุทธบาทภูเก้า เขาศิริวงกต บ้านดกบาก ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอโนนสัง จ.หนองบัวลำภู ตำแหน่งตามแผนที่ทหาร คือ มาตราส่วน ๑: ๕๐,๐๐๐
ลำดับชุด L ๗๐๑๗ ระหว่าง ๕๔๔๒ IV Latitude ๑๖ องศา ๕๔ ลิปดา ๓๒ ฟิลิปดาเหนือ Longitude ๑๐๒ องศา ๒๘ ลิปดา ๐๐ ฟิลิปดาตะวันออก ประวัติการ
ขุดค้นกองโบราณคดี กรมศิลปากร ร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาวาย สำรวจเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ ลักษณะทางโบราณสถาน เป็นถ้ำลึกประมาณ ๔ เมตร ปากถ้ำกว้าง
๘ เมตร ตรงเพดานถ้ำ มีภาพเขียนสีและภาพสลักปะปนกัน ลักษณะปลีกย่อย ภาพเขียนและภาพสลักดังกล่าวเป็นภาพลายเส้น และภาพรูปทรงเรขาคณิต สันนิษฐาน
ว่าเขียนขึ้นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์

๔. แหล่งประวัติศาสตร์

แหล่งประวัติศาสตร์ของจังหวัดหนองบัวลำภู คือ เส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พ.ศ. ๒๑๑๗ จากจังหวัดพิษณุโลกผ่านอำเภอวังทอง อำเภอด่านซ้าย
อำเภอเมืองเลย อำเภอสุวรรณคูหา ผ่านตำบลกุดกะสู้ เข้าสู่อำเภอเมืองหนองบัวลำภู และตั้งทัพ ณ สนามสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ริมฝั่งหนองบัวบึงน้ำจืดขนาดใหญ่
ของจังหวัดหนองบัวลำภู

๕. สถาปัตยกรรมดีเด่นมหาชัย



๕.๑ หอไตรวัดมหาชัย
ตั้งอยู่ที่วัดมหาชัย ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นสิ่งก่อสร้างสำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฏกคัมภีร์ใบลาน หนังสือหรือเอกสารธรรมะต่าง ๆ
ถือว่าเป็นห้องสมุดสำหรับพระภิกษุสามเณร ลักษณะรูปทรงเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง กั้นฝา อาจมีระเบียง และลูกกรงกั้นรอบ ๆ หลังคาแบบเดิมจะมุงด้วยแป้นไม้
ก่อสร้างอยู่กลางสระน้ำเพื่อป้องกันมอดปลวกหรือแมลงต่างๆ ติดต่อกับฝั่งโดยใช้สะพานชักเพื่อมิให้มีสิ่งเชื่อมต่อระหว่างฝั่งกับหอไตร



๕.๒ สิมไม้ (โบสถ์ไม้)
ตั้งอยู่ที่วัดเจริญทรงธรรม บ้านดอนปอ ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นสิมที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เข้าใจว่ารูปแบบเป็นการ
สืบทอดจากสิมน้ำ มีรูปทรงกระทัดรัด ขนาดกว้างยาวไล่เลี่ยกันผนังตีฝาไม้กระดาน ฐานของโบสถก่อด้วยอิฐฉาบปูน มีเสาไม้แก่นจำนวน ๑๒ ต้น สูงประมาณ
๑๒ เมตร หลังคาทรงสูงโปร่ง ทำให้บรรยากาศภายในเย็นสบาย ศิลปะการแกะสลักรูปพญาครุฑด้วยไม้ขนาด กว้าง ๑ เมตร ยาว ๑ เมตร สูง ๑ เมตร
ทราบว่าในภาคอีสานมีแห่งเดียวเท่านั้น ควรที่กรมศิลปากรจะขึ้นทะเบียนไว้ และรีบดำเนินการบูรณะปฏิสันขรณ์โดยด่วนก่อนที่จะทรุดโทรมมากไปกว่านี้





๕.๓ อาคารพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย
ตั้งอยู่ที่วัดถ้ำกลองเพล ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู สร้างด้วยหินแกรนิตที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สวยงามกลมกลืนกับธรรมชาติและ
คุณค่าทางศิลปะมาก โดยเฉพาะอาคารแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงิน ๑ ล้าน ๔ แสนบาท
เป็นปัจจัยสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารหลังนี้จึงมีคุณค่าทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม และคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์อีกด้วย

๖. อนุสาวรีย์ รูปปั้น





๖.๑ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นอนุสาวรีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จพักทัพ เมื่อ พ.ศ.๒๑๑๗ ตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณหนองบัว หน้าที่ว่าการอำเภอ
เมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู สร้างเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๐ โดยกรมศิลปากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถ เสด็จ
มาทรงเปิด เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๑





๖.๒ รูปปั้นและหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่ขาว อนาลโย
อริยสงฆ์แห่งวัดถ้ำกลองเพล เป็นอนุสาวรีย์สร้างด้วยความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อหลวงปู่ขาว ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาส วาสโน)
สมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงลิขิตเกี่ยวกับหลวงปู่ขาวไว้ว่า "เป็นพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระอรัญวาสี มีจริยานุวัตรหนักแน่นมั่นคงในธรรมปฏิบัติที่ปรากฏต่อ
ศิษยานุศิษย์ผู้เคารพนับถืออย่างสนิทใจว่า ท่านเป็นผู้เห็นธรรมอย่างแท้จริง เพราะมีกาย วาจา ใจ สงบระงับอยู่ในทำนองคลองธรรมเป็นปกติวิสัย ไม่แสดง
อาการหวั่นไหวเพราะประสบอารมณ์น่าปรารถหรือไม่น่าปราถนาที่ผ่านเข้ามากระทบ คงดำรงอารมณ์มั่นคงตามหลักธรรม มีสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์
มีความเห็นรู้แจ้งเห็นจริงตรงตามความเป็นจริง ปล่อยให้อารมณ์ทั้งสองฝ่ายนั้นผ่านไปตามธรรมดา ไม่มีการยึดถือ ดังหยาดน้ำจากหัตถ์ลงใบบัว
ย่อมกลอกกลิ้งตกไปไม่ซึมซาบติดใบบัวฉะนั้น"นามฉายาของท่านว่า อนาลโยนั้น น่าชวนให้เข้าใจว่า หมายถึงชื่อตัว คือ ขาวนั่นเอง ที่จริงคำว่า อนาลโย
แปลว่า ไม่มีอาลัย คือ ไม่มีความถือห่วงใยในฐานะเป็นเจ้าของทั้งในบุคคล สัตว์ และพัสดุทั้งหลาย ทางธรรมถือว่าผู้ยังยึดมั่นถือมั่นอยู่เช่นนั้น เป็น
ผู้มีใจไม่สะอาดหมดจด เพราะมัวหมองด้วยการยึดถือเมื่อหมดยึดถือ ปล่อยวางด้วยรู้เท่าทันธรรมดา เป็นความเห็นชอบตามความจริง จึงเชื่อว่าใจสะอาด
บริสุทธิ์เห็นปานนี้ย่อมข้ามพ้นมัจจุราชได้ สมเป็นปูชนียะชั้นประเสริฐแท้จริง ศิษยานุศิษย์รักและเคารพนับถือ จึงควรบูชาคุณธรรมของท่านด้วยฝึกฝนปฏิบัติตน
ตามปฏิปทาที่ท่านมาจนตลอดอายุขัย เพื่อเป็นสักการะบูชาท่านผู้ทรงคุณควรบูชาจัดเป็นกตเวทีอย่างสมควรแท้

๗. สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง




๗.๑ บ่อน้ำวัดศรีคูณเมือง
เป็นบ่อน้ำก่อด้วยอิฐขนาดเดียวกับกำแพงเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒ เมตร ลึกประมาณ ๕๐ เมตร มีน้ำใสสะอาดตลอดปี
สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พ.ศ. ๒๑๐๖ ถือว่าเป็นบ่อน้ำคู่น้ำคู่เมืองเวลามีพระราชพิธีและพิธีสำคัญจะนำน้ำจากบ่อแท่งนี้ไปใช้ อาทิ
พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

๗.๒ พระราชศรีสุมังค์
พระประธานในอุโบสถ์วัดศรีสุมังค์หายโศก บ้านลำภู เป็นพระพุทธรูปสมัยศิลปะล้านช้าง พระเกศสวมมงกุฏเหมือนกษัตริย์ สันนิษฐานว่าสร้างรุ่นเดียวกันกับ
วัดศรีคูณเมืองในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ชาวเมืองถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นประธานในพิธีถือถ้ำพระพิพัฒน์สัตยา และดื่มน้ำสาบาน ซึ่งมี
ความศักดิ์สิทธิ์มาก ถ้าใครผิดคำสาบานคนนั้นจะได้รับเคราะห์กรรมตามที่ได้ให้สัจจะไว้

๗.๓ พระไชยเชษฐาวัดถ้ำสุวรรณคูหา
พระเจ้าไชยเชษฐาเป็นนามพระพุทธรูปประธานในถ้ำสุวรรณคูหา ซึ่งให้เป็นสีมา (อุโบสถ) และวิหารประจำ เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างขนาดใหญ่
ฐานกว้างประมาณ ๔ ศอก ปางมัจลินท์ คือพระพุทธรูปนาคปรก มีนาคปรก ๗ เศียร ลักษณะทั่วไปของนาคมีหน้าตาแบบศิลปะล้านช้างพระพุทธรูปไชยเชษฐา
ตั้งอยู่บนฐานชุกชีปูน ฐานสูงจากพื้นประมาณ ๑ เมตร ปูนปั้นพระพุทธรูปเรียกว่า ปูนสะทายเพชร(ปูนสะทายโบกอีกสูตรหนึ่งที่ใช้โบกผนังทั่วไป ซึ่งแข็งตัวดี
สะดวกในการใช้ปั้นลวดลาย และพระพุทธรูป มีส่วนผสม ดังนี้ ปูนขาว ๒ ส่วน ทราย ๕ ส่วน น้ำมันยาง ๑ ส่วน น้ำมะขาม ๒ ส่วน) โดยใช้อิฐเป็นโครงในและ
ใช้ปูนสะทายเพชรโบกทับ ปั้นแต่งให้มีรูปร่างตามความต้องการของฉะบับหรือสะบับ (ช่าง)
พระเจ้าไชยเชษฐานี้เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านมาก เล่ากันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีงานบุญปิดทองไหว้พระประจำปีในเดือนสาม ขึ้น ๑๓-๑๖ ค่ำ
ทุกปี ประชาชนในละแวกใกล้เคียงจังหวัดอุดรธานี และ จ.หนองบัวลำภู จะมานมัสการพระเจ้าไชเชษฐาจำนวนมาก

๗.๔ พระมหาธาตุเจดีย์
ได้กล่าวไว้ในศิลาจาลึกหลักที่ ๒ (สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๙) ที่กล่าวว่า "พระยาสุรเทพเจ้าได้อุทิศข้าพระโยมสงฆ์ไว้กับพระมหาธาตุเจ้า ๕ ครอบครัว คือ
แสนศรีครัวหนึ่ง ทั้งเมียทั้งลูก แสนนันทสงครามครัวหนึ่ง เทพอาสาครัวหนึ่ง ทั้งเมียทั้งลูก นางกว้านกว่าครัวหนึ่ง ทั้งลูกทั้งหลาน อีบัวครัวหนึ่งทั้งน้องทั้งหลาน"
แสดงให้เห็นว่าพระมหาธาตุที่ประจำอยู่ในวัดสุวรรณคูหานี้เป็นพระธาตุเจดีย์สำคัญจนมีผู้เลื่อมใสศรัทธา อุทิศทาสดูแลพระมหาธาตุถึง ๕ ครอบครัว เรื่องพระมหา
ธาตุเจดีย์ในวัดสุวรรณคูหานี้ ชาวบ้านและพระสงฆ์ในวัดปัจจุบันยังไม่ทราบว่ามีพระมหาธาตุอยู่ในถ้ำวัดสุวรรณคูหา (ตามที่ศิลาจารึกได้กล่าวไว้) จากความเห็น
ของผู้เรียบเรียงเชื่อว่า "พระธาตุเจดีย์ขนาดย่อมที่สร้างไว้ในถ้ำสุวรรณคูหา อยู่ด้านหลังพระเจ้าไชยเชษฐาพระพุทธรูปประธานวิหารถ้ำสุวรรณคูหาน่าจะเป็น
"พระมหาธาตุ" ที่กล่าวไว้ในศิลาจาลึก (พ.ศ. ๒๑๖๙) ก็ได้" เพราะ สร้างไว้อยู่ด้านหลังพระวิหาร (ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวพุทธจะนิยมสร้างพระมหาธาตุไว้อยู่
เบื้องหลังรพระวิหาร แต่อยู่นอกอาคารพระวิหาร แต่ในถ้ำสุวรรณคูหานี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้เป็นพระวิหาร และมีสถานที่จำกัด (เพดานถ้ำไม่สูงมากนัก) จึงจำ
เป็นจะต้องสร้างพระธาตุเจดีย์ขนาดย่อม แต่ชาวพุทธและพระเถระสมัยโบราณทราบว่าเป็นพระมหาธาตุ จึงได้มีผู้เลื่อมใสศรัทธาถวายข้าพระโยมสงฆ์ไว้ดูแล ทำ
ความสะอาดจัดเครื่องบูชา และรักษาเฝ้าเวรยาม ไว้ถึง ๕ ครอบครัว ดังปรากฏรายละเอียดในศิลาจารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหาหลักที่ ๒ นั้นแล้ว ส่วนพระธาตุอื่น ๆ อีก
จำนวนมาก ซึ่งเป็นพระธาตุของพระเถระผู้ใหญ่ของวัดถ้ำสุวรรณคูหา ชาวพุทธก็ได้สร้างพระธาตุอัฐิเช่นเดียวกัน แต่สร้างอยู่เบื้องล่าง หน้าถ้ำเพิงผาอื่น ๆ หาได้
สร้างในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนพระธาตุดังกล่าว





๗.๕ ศาลเจ้าปู่หลุบ
ตั้งอยู่บริเวณดอนหัน บ้านห้วยเชียง ริมถนนหนองบัวลำภู - อุดรธานี ทางหมายเลข ๒๑๐ จากตัวเมืองไปทางจังหวัดอุดรธานี ประมาณ ๓ กิโลเมตร เป็นสถานที่
พักผ่อนหย่อนใจที่ร่มรื่นด้วยป่าไม้นานาพันธุ์และโขดหินรูปต่าง ๆ แปลกตา บริเวณใกล้เคียงมีศาลเจ้า "ปู่หลุบ" ซึ่งเป็นที่เคารพและศรัทธาของประชาชนทั่วไป
เวลาขับรถผ่านเส้นทางสายนี้ จะบีบแตรสามครั้ง เพื่อขอให้เดินทางด้วยความปลอดภัยและประสบโชคดี บางทีมีคนไปบนบานศาลกล่าวเพื่อขอให้ปู่หลุบได้ช่วย
เหลือเมื่อประสบผลสำเร็จแล้ว ก็จะนำเหล้าไหไก่โตหรือไม่ก็หัวหมูไปถวายเป็นการแก้บน บางทีก็นำหมอลำซิ่ง หมอลำเพลินและภาพยนตร์แก้บนในเวลากลางวัน





๗.๖ ปโมทิตเจดีย์ อาคารพิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลอด
ปโมทิตเจดีย์ เป็นเจดีย์ ๓ ชั้น มีขนาดกว้าง ๒๐ เมตร ความยาว ๔๒ เมตร ความสูง ๓๕ เมตร อยู่ที่วัดป่าศรีสว่าง ตำบลบ้านขาม อำเภอเมือง จ.หนองบัวลำภู
ประกอบด้วยชั้นที่ ๑ เป็นศาลาปฏิบัติธรรมและห้องประชุม ชั้นที่ ๒ เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ของหลวงปู่หลอด ปโมทิโต ชั้นที่ ๓ เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสาริกธาตุ
โดยคุณวัลลภ จุติกุล และคณะได้เดินทางไปที่ประเทศเนปาล เพื่อร่วมเป็นเจ้าภาพในพิธีมอบบรมสาริกธาตุ และได้นำมาประดิษฐาน ณ พระเจดีย์ อำเภอเมือง
จังหวัดหนองบัวลำภู และได้นำคณะญาติโยมผู้ศรัทธาได้ร่วมกันสร้างตั้งแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ เป็นเวลา ๖ ปี รวมค่าก่อสร้าง ๒๐,๑๗๑,๕๓๓.๓๕ บาท
เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖ โดยหลวงปู่หลอดเป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระบรมสาริกธาตุ บรรจุปโมทิตเจดีย์ ทางวัดเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวัน
เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. สำหรับพระบรมสาริกธาตุ เปิดให้สาธุชนเข้าสักการะเฉพาะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น