วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

ระบบนิเวศป่าชายเลน


ระบบนิเวศป่าชายเลน เป็นระบบนิเวศที่อยู่ในแนวเชื่อมต่อ ระหว่างผืนแผ่นดินกับพื้นน้ำทะเลในเขตร้อน และกึ่งร้อน ของโลกซึ่งมีป่าชายเลนขึ้นอยู่เป็นระบบที่นำเอาทรัพยากรน้ำ ดิน และแร่ธาตุอาหารต่างๆ จากบกและทะเลมาปรุงแต่งให้เป็นแหล่งทรัพยาการที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและคุณค่าสูง ขณะเดียวกันตัวเองจะทำหน้าที่เป็นป้อมปราการที่คอยปกป้องและรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของสิ่งแวดล้อม ให้เอื้ออำนวยต่อการเป็นแหล่งกำเนิดห่วงโซ่อาหาร ของมวลมนุษยชาติอย่างยั่งยืน
สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของป่าชายเลนมีความแตกต่างออกไปอย่างมากจากป่าชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะดิน เนื่องจากมีสภาพเป็นดินเลนในที่ราบกว้างใหญ่ ดินเหล่านี้มีความอุดมสมบูรณ์สูงจากธาตุอาหารที่ไหลมาจากแหล่งต่างๆ เช่น จากการกันเซาะตามชายฝั่งและแหล่งน้ำลำธาร อีกส่วนหนึ่งมาจากซากพืชซากสัตว์ในบริเวณป่าชายเลนเอง โดยเฉพาะใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกันเป็นจำนวนมาก แพลงค์ตอนพืชและสาหร่าย ส่วนสภาพความเค็มของน้ำบริเวณนี้มีระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากมีน้ำจืดไหลลงมาปะปนกับน้ำทะเลจึงทำให้น้ำบริเวณนี้เป็นน้ำกร่อย ระดับความเค็มของน้ำดังกล่าวยังเปลี่ยนแปลงไปได้ตามระดับน้ำที่ขึ้นลงเป็นประจำ กล่าวคือ ระดับความเค็มจะสูงขึ้นเมื่อน้ำขึ้น และในขณะที่อยู่ในช่วงน้ำเกิด น้ำทะเลจะสามารถไหลเข้าสู่ป่าชายเลนได้เป็นระยะทางไกลขึ้น ซึ่งเป็นไปในทางกลับกันกับน้ำลงและช่วงน้ำตายตามลำดับ

ลักษณะทางกายภาพดังกล่าวมีผลต่อชุมชนในป่าชายเลนเป็นอย่างมาก โดยมีผลทางตรงต่อชนิดและการกระจายของพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ดังจะเห็นได้จากป่าชายเลนแหล่งต่างๆของโลก พันธุ์ไม้จะขึ้นอยู่ในลักษณะเป็นเขตแนวของแต่ละชนิด โดยมีแบบแผนแน่นอนจากบริเวณฝั่งน้ำเข้าไปด้านในของป่า อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างไปจากป่าบกทั่วไป ทั้งนี้เพราะลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ป่าที่มีความแตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบกันตั้งแต่ชายฝั่งถึงส่วนที่อยู่ลึกเข้าไป พันธุ์ไม้ต่างๆที่มีการปรับตัวมาจนขึ้นอยู่ได้ในเขตนี้ แม้จะปรับตัวมาในลักษณะคล้ายกัน แต่ยังคงมีความแตกต่างกันในบางส่วน ที่ทำให้สามารถเจริญและแพร่กระจายอยู่ได้ในบริเวณต่างกันของป่าชายเลนโดยเฉพาะบริเวณที่มีสภาพเป็นดินเลนลึก มีน้ำท่วมถึงเสมอกับบริเวณที่เป็นดินเลนตื้น และมีน้ำท่วมถึงเป็นบางครั้งบางคราว พันธุ์ไม้ที่จะขึ้นได้ในบริเวณที่เป็นดินเลนลึกจึงต้องมีรากค้ำจุนที่แข็งแรงเป็นจำนวนมาก รากเหล่านี้ช่วยพยุงลำต้นให้ตั้งตรงอยู่ได้ไม่โค่นล้มเมื่อถูกพายุพัดหรือคลื่นซัด ได้แก่ พันธุ์ไม้พวก โกงกาง ต้นอ่อนจึงสามารถเจริญเติบโตตั้งแต้อยู่บนต้นแม่จนกระทั่งพร้อมที่จะงอกรากและเติบโตเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงทันทีที่ร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน

สำหรับสัตว์ต่างๆที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนต่างก็ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากสัตว์ในป่าบกทั่วไปเช่นกัน สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามเรือนยอดของพันธุ์ไม้ต่างๆในป่าชายเลนเป็นพวกที่ไม่จำเป็นต้องมีการปรับตัวโดยเฉพาะ ได้แก่ นก แมลง และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดต่างๆ เช่น ลิง หนูค้างคาว เสือปลา นาก และแมวป่า รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตะกวด เต่า และงู เป็นต้น สัตว์พวกนี้อาจมีการอพยพไปมาจากป่าชายเลนสู่ป่าข้างเคียงได้ แต่สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามพื้นป่าโดยอาศัยคืบคลานหรือเกาะหรือขุดรูอยู่ตามพื้นดิน รวมทั้งพวกที่อยู่ในน้ำจะต้องมีการปรับตัวอย่างมากเพื่อการอยู่รอดเนื่องจากต้องประสบกับสภาวะต่างๆที่เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นประจำหรือต้องอยู่ในสภาพไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตโดยทั่วไป เช่น สภาวะที่ทำให้มีการสูญเสียน้ำออกจากลำตัว และสภาพอุณหภูมิสูง สภาพที่มีปริมาณออกซิเจนค่อนข้างต่ำของดินเลน และการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำ สัตว์พวกนี้ได้แก่ หอย ปู กุ้ง หนอนตัวกลม หนอนตัวแบน ไส้เดือนทะเล และครัสเตเชียน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามชุมชนในป่าชายเลนจะประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆจำนวนมากที่สามารถปรับตัวอยู่ได้และแพร่ลูกแพร่หลานเป็นจำนวนมาก ทำให้ป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิดก็ได้อาศัยวางไข่และอนุบาลตัวอ่อนในบริเวณนี้ โดยบางชนิดอาศัยอยู่จนครบวงจรของชีวิต

ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลนในแง่ของการถ่ายทอดพลังงาน เป็นแบบที่เริ่มต้นด้วยเศษอินทรียสาร (detritus) ซึ่งได้จากการสลายตัวของใบไม้ในบริเวณป่าชายเลนโดยจุลินทรีย์ผู้ย่อยสลาย อินทรียวัตถุเหล่านี้จะเป็นอาหารของพวกกินเศษอินทรียวัตถุ เช่น แอมฟิพอด หอย กุ้ง ปู และตัวอ่อนของแมลงต่างๆ จากพื้นก็จะถูกกินต่อๆกันไปตามลำดับขั้นของลูกโซ่อาหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น