วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554
ประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระราชโอรส ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ปฐมกษัตริย์ แห่งกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ มีพระมเหสีคือ พระนางเสือง มีพระราชโอรสสามพระองค์ พระราชธิดาสองพระองค์ พระราชโอรส องค์ใหญ่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังเยาว์ องค์กลางมี พระนามว่า บานเมือง และพระราชโอรสองค์ที่สาม คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อพระชันษาได้ ๑๙ ปี ได้ชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด พ่อขุนศรี อินทราทิตย์ จึงพระราชทานนามว่า "พระรามคำแหง" เมื่อสิ้นรัชสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพ่อขุนบานเมืองแล้ว พระองค์ได้ครองกรุงสุโขทัย ต่อมาเป็น พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์พระร่วงสันนิษฐานว่าพระองค์ สิ้นพระชนม์ในราวปี พ.ศ.๑๘๖๐ รวมเวลาที่ทรงครองราชย์ประมาณ ๔๐ ปี
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงรวมเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอัจฉริยภาพทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนาและศิลปวิทยาต่างๆ ที่สำคัญยิ่งคือพระองค์ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๒๖ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอักษรไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
พระเจ้ารามคำแหงมหาราช
เมื่อแรกตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้น อาณาเขตยังไม่กว้างขวางเท่าใดนัก เขตแดนทางทิศใต้จดเพียงเมืองปากน้ำโพ ใต้จากปากน้ำโพลงมายังคงเป็นอาณาเขตของขอมอันได้แก่เมืองละโว้ ทางฝ่ายตะวันตกจดเพียงเขาบันทัด ทางเหนือมีเขตแดนติดต่อกับประเทศลานนาที่ภูเขาเขื่อน ส่วนทางตะวันออกก็จดอยู่เพียงเขาบันทัดที่กั้นแม่น้ำสักกับแม่น้ำน่าน
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ทรงครองราชย์อยู่นั้น พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ก็ได้กระทำสงครามเพื่อขยายเขตแดนของไทยออกไปอีกในทางโอกาสที่เหมาะสม ดังที่มีข้อความปรากฏอยู่ในศิลาจารึกว่า พระองค์ได้เสด็จยกกองทัพไปดีเมืองฉอด ได้ทำการรบพุ่งตลุมบอนกันเป็นสามารถถึงขนาดที่พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ ได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับขุนสามชนเข้าเมืองฉอด แต่พระองค์เสียทีแก่ขุนสามชน แลในครั้งนี้เองที่เจ้ารามราชโอรสองค์เล็กของพระองค์ได้เริ่มมีบทบาทสำคัญด้วยการที่ทรงถลันเข้าช่วยโดยไสช้างทรงเข้าแก้พระราชบิดาไว้ทันท่วงที แล้วยังได้รบพุ่งตีทัพขุนสามชนเข้าเมืองฉอดแตกพ่ายกระจายไป
พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ พระราชบิดาจึงถวายพระนามโอรสองค์เล็กนี้ว่า “เจ้ารามคำแหง” พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ ทรงครองอาณาจักรสุโขทัยอยู่จนถึงประมาณปี 1881 จึงเสด็จสวรรคต พระองค์มีพระโอรสพระองค์ด้วยกัน โอรสองค์ใหญ่พระนามไม่ปรากฎเพราะได้สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่เยาว์วัย องค์กลางทรงพระนามว่า “ขุนบาลเมือง” องค์เล็กทรงพระนามว่า “เจ้าราม” และต่อมาได้รับพระราชทานใหม่ว่า “เจ้ารามคำแหง” หลังจากตีทัพขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดแตกพ่ายไป
เมื่อพระเจ้าศรีอินทราทิตย์เสด็จสวรรคตแล้วโอรสองค์กลางขุนบาลเมือง ได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมาอีกประมาณ 9 ปี ก็เสด็จสวรรคต พระราชอนุชา คือ เจ้ารามคำแหง จึงได้เสวยราชย์สืบต่อมา ทรงพระนามว่า พระเจ้ารามคำแหง
พระเจ้ารามคำแหง จะมีพระนามเดิมว่าอย่างไรไม่ปรากฏชัดแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ ได้ทรงสันนิษฐานว่า คงจะเรียกกันว่า “เจ้าราม” แลเมื่อเจ้ารามมีพระชนมายุได้ 19 ชรรษา ได้ตามสมเด็จพระราชบิดาไปทำศึกกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดและได้ทรงแสดงความเก่งกล้าในทาสไสช้างทรงเข้าแก้เอาพระราชบิดาไว้ได้ทั้งตีทัพขุนสามชนแตกพ่ายไปแล้วพระราชบิดาจึงถวายพระนามเสียใหม่ว่า “เจ้ารามคำแหง”
พระเจ้ารามคำแหง ทรงเป็นมหาราชองค์ที่สองของชาวไทย และทรงเป็นมหาราชพระองค์เดียวในสมัยสุโขทัย พระองค์ทรงเป็นอัจฉริยกษัตริย์ทรงชำนาญทั้งในด้านการรบ การปกครอง และการศาสนา พระองค์ทรงขยายอาณาจักรสุโขทัยออกไปได้กว้างใหญ่ไพศาลด้วยวิเทโศบายอันแยบยลสุขุมคัมภีรภาพทั้งทรงปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยความยุติธรรมได้รับความร่มเย็นเป็นสุขกันทั่วหน้า ซึ่งข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์เป็นอันดับไปดังต่อไปนี้
การขยายอาณาจักร
เมื่อพระเจ้ารามคำแหง เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติสืบต่อจากพ่อขุนบาลเมืองนั้น อาณาจักรสุโขทัยนับว่าตกอยู่ในระหว่างอันตรายรอบด้าน และยากทำการขยายอาณาจักรออกไปได้ เพราะทางเหนือก็ติดต่อกับแคว้นลานนา อันเป็นเชื้อสายไทยด้วยกันมีพระยาเม็งรายเป็นเจ้าเมืองเงินยางและพระยางำเมือง เป็นเจ้าเมืองพะเยาและทั้งพระยาเม็งรายและพระยางำเมือง ขณะนั้นต่างก็มีกำลังอำนาจแข็งแกร่งทั้งคู่ ทางตะวันออกนั้นเล่าก็ติดต่อกับดินแดนของขอม ซึ่งมีชาวไทยเข้าไปตั้งภูมิลำเนาอยู่มาก ตะวันตกของอาณาจักรสุโขทัยก็จดเขตแดนมอญและพม่า ส่วนทางใต้ก็ถูกเมืองละโว้ของขอมกระหนาบอยู่
ด้วยเหตุนี้พระเจ้ารามคำแหงจึงต้องดำเนินวิเทโศบายในการแผ่อาณาจักรอย่างแยบยล และสุขุมที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการฆ่าฟันระหว่างคนไทยด้วยกันเอง คือแทนที่จะขยายอาณาเขตไปทางเหนือ หรือตะวันออกซึ่งมีคนตั้งหลักแหล่งอยู่มาก พระองค์กลับทรงตัดสินพระทัยขยายอาณาเขตลงไปทางใต้อันเป็นดินแดนของขอม และทางทิศตะวันตกอันเป็นดินแดนของมอญ เพื่อให้คนไทยในแคว้นลานนาได้ประจักษ์ในบุญญาธิการ และได้เห็นความแข็งแกร่งของกองทัพไทยแห่งอาณาจักรสุโขทัยเสียก่อน แล้วไทยในแคว้นลานนาก็อาจจะมารวมเข้าด้วยต่อภายหลังได้โดยไม่ยาก
แต่แม้จะได้ตกลงพระทัย ดังนั้น พระเจ้ารามคำแหงก็ยังคงทรงวิตกอยู่ในข้อที่ว่าถ้าแม้ว่าพระองค์กรีฑาทัพขยายอาณาเขตลงไปสู้รบกับพวกขอมทางใต้แล้วพระองค์อาจจะถูกศัตรูรุกรานลงมาจากทางเหนือก็ได้ บังเอิญในปี พ.ศ. 1829 กษัตริย์ในราชวงศ์หงวนได้ส่งฑูตเข้ามาขอทำไมตรีกับไทย พระองค์จึงยอมรับเป็นไมตรีกับจีน เพื่อป้องกันมิให้กองทัพจีนยกมารุกรานเมื่อพระองค์ยกทัพไปรบเขมร พร้อมกันนั้นก็ได้ทรงพยายามสร้างความสนิทสนมกับไทยลานนาเช่นได้เสด็จด้วยพระองค์เองไปช่วยพระยาเม็งราย สร้างราชธานีที่นครเชียงใหม่เป็นต้น แหละเมื่อเห็นว่าสัมพันธไมตรีทางเหนือมั่นคงแล้ว พระองค์จึงได้เริ่มขยายอาณาจักรสุโขทัยลงไปทางใต้ตามลำดับ คือ ใน พ.ศ. 1823 ทรงตีได้เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองต่างๆ ในแหลมลายูตลอดรวมไปถึงเมืองยะโฮร์ และเกาะสิงคโปร์ในปัจจุบันนี้
ใน พ.ศ. 1842 ตีได้ประเทศเขมร (กัมพูชา)
ส่วนทางทิศตะวันตกที่มีอาณาเขตจดเมืองมอญนั้นเล่าพระเจ้ารามคำแหงก็ได้ดำเนินการอย่างสุขุมรอบคอบเช่นเมื่อได้เกิดความขึ้นว่า มะกะโท อำมาตย์เชื้อสายมอญ ซึ่งมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและได้มารับราชการใกล้ชิดพระองค์ได้กระทำความผิดชั้นอุกฤติโทษ โดยลักพาเอาพระธิดาของพระองค์หนีกลับไปเมืองมอญ แทนที่พระองค์จะยกทัพตามไปชิงเอาตัวพระราชธิดาคืนมา พระองค์กลับทรงเฉยเสียด้วยได้ทรงคาดการณ์ไกล ทรงมั่นพระทัยว่า มะกะโท ผู้นี้คงจะคิดไปหาโอกาสตั้งตัวเป็นใหญ่ในเมืองมอญ ซึ่งถ้าเมื่อมะกะโทได้เป็นใหญ่ในเมืองมอญก็เปรียบเสมือนพระองค์ได้มอญมาไว้ในอุ้มพระหัตถ์ โดยไม่ต้องรบราฆ่าฟันกันให้เสียเลือดเนื้อ ซึ่งต่อมาการณ์ก็ได้เป็นไปตามที่ได้ทรงคาดหมายไว้ คือมะกะโท ได้เป็นใหญ่ครอบครองอาณาจักรมอญทั้งหมด แลได้เข้าสามิภักดิ์ต่ออาณาจักรสุโขทัย โดยพระเจ้ารามคำแหงมิต้องทำการรบพุ่งประการใดพระองค์ได้เสด็จไปทำพิธีราชภิเษกให้มะกะโท และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “พระเจ้าฟ้ารั่ว”
ด้วยวิเทโศบายอันชาญฉลาด สุขุมคัมภีรภาพของพระองค์นี้เอง จึงเป็นผลให้อาณาจักรไทยในสมัยพระเจ้ารามคำแหงแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ปรากฎตามหลักศิลาจารึกว่าทางทิศใต้จดแหลมมลายูทิศตะวันตกได้หัวเมืองมอญทั้งหมด ได้จดเขตแดนหงสาวดี จดอ่าวเบงคอล ทิศตะวันออกเฉียงใต้ประเทศเขมร มีเขตตั้งแต่สันขวานโบราณไปจดทะเลจีน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือได้เมืองน่าน เมืองหลวงพระบางทั้งเวียงคำฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ทิศเหนือมีอาณาเขตจดเมืองลำปาง กล่าวได้ว่าเป็นครั้งตั้งแต่ตั้งอาณาจักรไทยที่ได้แผ่นขยายอาณาเขตไปได้กว้างขวางถึงเพียงนั้น
การทำนุบำรุงบ้านเมือง
เมื่อได้ทรงขยายอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยออกไปอย่างกว้างขวางดังกล่าวแล้วพระเจ้ารามคำแหง ยังได้ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองอีกเป็นอันมาก เช่นได้ทรงสนับสนุนในทางการค้าพานิช เลิกด่านเก็บภาษีอากรและจังกอบ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนไปมาค้าขายกันได้โดยสะดวกได้ยิ่งขึ้น ได้ส่งเสริมการทำอุตสาหกรรมทำเครื่องถ้วยชาม ถึงกับได้เสด็จไปดูการทำถ้วยชามในประเทศจีนถึงสองครั้ง แล้วนำเอาช่างปั่นถ้วยชามชาวจีนเข้ามาด้วยเป็นอันมาก เพื่อจะได้ให้ฝึกสอนคนไทยให้รู้จักวิธีทำถ้วยชามเครื่องเคลือบดินเผาต่างๆ ซึ่งปรากฏว่าได้เจริญรุ่งเรืองมากในระยะนั้น
ในด้านทางศาลก็ให้ความยุติธรรมแก่อาณาประชาราษฎรโดยทั่วถึงกันไม่เลือกหน้าทรงเอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ถึงกับสั่งให้เจ้าพนักงานแขวนกระดิ่งขนาดใหญ่ไว้ที่ประตูพระราชวังด้านหน้าแม้ใครมีทุกข์ร้อนประการใดจะขอให้ทรงระงับดับเข็ญแล้วก็ให้ลั่นกระดิ่งร้องทุกข์ได้ทุกเวลา ในขณะพิจารณาสอบสวนและตัดสินคดี พระองค์ก็เสด็จออกฟังและตัดสินด้วยพระองค์เองไปตามความยุติธรรม แสดงความเมตตาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเสมือนบิดากับบุตรทรงชักนำให้ศาสนาประกอบการบุญกุศล ศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระองค์เองทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกได้ทรงสร้างแท่นมนังศศิลาไว้ที่ดงตาล สำหรับให้พระสงฆ์แสดงธรรมและบางครั้งก็ใช้เป็นที่ประทับว่าราชการแผ่นดิน
การปกครอง
ลักษณะการปกครองในสมัยของพระเจ้ารามคำแหงหรือราษฎรมักเรียกกันติดปากว่าพ่อขุนรามคำแหงนั้น พระองค์ได้ทรงถือเสมือนหนึ่งว่าพระองค์เป็นบิดาของราษฎรทั้งหลาย ทรงให้คำแนะนำสั่งสอน ใกล้ชิดเช่นเดียวกับบิดาจะพึงมีต่อบุตร โปรดการสมาคมกับไพร่บ้านพลเมืองไม่เลือกชั้นวรรณะ ถ้าแม้ว่าใครจะถวายทูลร้องทุกข์ประการใดแล้ว ก็อนุญาตให้เข้าเฝ้าใกล้ชิดได้ไม่เลือกหน้าในทุกวันพระมักเสด็จ ออกประทับยังพระแท่นศิลาอาสน์ ทำการสั่งสอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม
ในด้านการปกครองเพื่อความปลอดภัยและมั่นคงของประเทศนั้นพระองค์ทรงถือว่าชายฉกรรจ์ที่มีอาการครบ 32 ทุกคนเป็นทหารของประเทศ พระเจ้าแผ่นดินทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพ ข้าราชการก็มีตำแหน่งลดหลั่นเป็นนายพล นายร้อย นายสิบ ถัดลงมาตามลำดับ
ในด้านการปกครองภายใน จัดเป็นส่วนภูมิภาคแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นใน ชั้นนอกและเมืองประเทศราชสำหรับหัวเมืองชั้นใน มีพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ปกครองโดยตรง มีเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี เมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก) เป็นเมืองอุปราช มีเมืองทุ่งยั้งบางยม สองแคว (พิษณุโลก) เมืองสระหลวง (พิจิตร) เมืองพระบาง (นครสวรรค์) และเมืองตากเป็นเมืองรายรอบ
สำหรับหัวเมืองชั้นนอกนั้น เรียกว่าเมืองพระยามหานคร ให้ขุนนางผู้ใหญ่ที่ไว้วางพระราชหฤทัยไปปกครองมีเมืองใหญ่บ้างเล็กบ้าง เวลามีศึกสงครามก็ให้เกณฑ์พลในหัวเมืองขึ้นของตนไปช่วยทำการรบป้องกันเมือง หัวเมืองชั้นนอกในสมัยนั้น ได้แก่ เมืองสรรคบุรี อู่ทอง ราชบุรี เพชรบุรี ตะนาวศรี เพชรบูรณ์ แลเมืองศรีเทพ
ส่วนเมืองประเทศราชนั้น เป็นเมืองที่อยู่ชายพระราชอาณาเขตมักมีคนต่างด้าวชาวเมืองเดิมปะปนอยู่มาก จึงได้ตั้งให้เจ้านายของเขานั้นจัดการปกครองกันเอง แต่ต้องถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองทุกปี แลเมื่อเกิดศึกสงครามจะต้องถล่มทหารมาช่วย เมืองประเทศราชเหล่านี้ ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช มะละกา ยะโฮร์ ทะวาย เมาะตะมะ หงสาวดี น่าน หลวงพระบาง เวียงจันทร์ และเวียงคำ
การวรรณคดี
นอกจากจะได้ทรงขยายอาณาเขตของไทย ทางปกครองทำนุบำรุงบ้านเมือง และจัดระบบการปกครองที่เป็นระเบียบเรียบร้อยดังกล่าวแล้ว พระเจ้ารามคำแหงยังได้ทรงสร้างสิ่งที่คนไทยจะลืมเสียมิได้อีกอย่างหนึ่ง สิ่งนั้น ได้แก่ การประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นอันเป็นรากฐานของหนังสือไทยที่เราได้ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้
ตามหลักฐานปรากฎว่าพระองค์ได้ทรงคิดอักษรไทยขึ้นใช้เมื่อปี พ.ศ. 1826 กล่าวกันว่าได้ดัดแปลงมาจากอักษรคฤนถ์อันเป็นอักษรที่ใช้กันอยู่ในอินเดียฝ่ายใต้
ตัวอักษรไทยซึ่งพระเจ้ารามคำแหงคิดขึ้นใช้ในสมัยนั้นตัวพยัญชนะ สระและวรรณยุกต์จึงอยู่เรียงในบรรทัดเดียวกันหมด ดังจะดูได้จากแผ่นศิลาจารึกในสมัยพระเจ้ารามคำแหง ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ต่อมาจึงได้มีผู้ค่อยคิดดัดแปลงให้วัฒนาในทางดี และสะดวกในการเขียนมากขึ้น เป็นลำดับ จนกระทั่งถึงอักษรไทยที่เราได้ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้
การศาสนา
ในสมัยพระเจ้ารามคำแหงนั้น ปรากฎว่าศาสนาพุทธได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมากเพราะพระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก เช่นเมื่อมีคนไทยเดินทางไปยังเกาะลังกา เพื่อบวชเรียนตามลัทธิลังกาวงศ์ คือถือคติอย่างหินยาน มีพระไตรปิฎกเป็นภาษามคธ แล้วเข้ามาตั้งเผยแพร่พระพุทธศาสนาอยู่ที่เมืองนครธรรมราชนั้น พระเจ้ารามคำแหงยังได้เสร็จไปพบด้วยพระองค์เองแล้วนิมนต์พระภิกษุนั้นขึ้นมาตั้งให้เป็นสังฆราชกรุงสุโขทัย และได้บวชในคนไทยที่เลื่อมใสศรัทธาต่อมาตามลำดับ ต่อมาพระเจ้ารามคำแหงได้ทำไมตรีกับลังกาและได้พระพุทธสิหิงค์มาจากลังกา แลนับแต่นั้นมาคนไทยจึงได้นับถือลัทธิลังกาวงศ์สืบมา
ศิลาจารึก
ในสมัยพระเจ้ารามคำแหง ได้มีการจัดทำศิลาจารึกขึ้นเป็นครั้งแรกแลนับว่าก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะถ้าพระองค์มิได้ทรงคิดอักษรไทยและทำศิลาจารึกไว้แล้ว คนไทยรุ่นต่อมาก็จะค้นคว้าหาหลักฐานในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ได้ยากยิ่ง
หลักศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง
เพื่อให้ท่านผู้อ่าน ได้ทราบถึงความเป็นมาในการค้นพบหลักศิลาจารึกในสมัยพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ข้าพเจ้าจึงขอคัดข้อความจากประชุมจารึกสยาม ภาคที่ 1 จารึกสุโขทัยซึ่งศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ เป็นผู้ชำระและแปลมาเสนอไว้ดังต่อไปนี้
เมื่อปีมะเส็ง เบญจศก ศักราช 1995 (พ.ศ.2376) เสด็จไปประพาสเมืองเหนือนมัสการเจดีย์ สถานต่างๆ ไปโดยลำดับประทับเมืองสุโขทัย เสด็จไปเที่ยวประพาสพบแผ่นศิลา(พระแท่นมนังคศิลา) แผ่นหนึ่ง เขาก่อไว้ริมเนินปราสาทเก่าหักพังอยู่เป็นที่นับถือกลังเกรงของหมู่มหาชน ถ้าบุคคลไม่เคารพเดินกรายเข้าไปใกล้ให้เกิดการจับไข้ไม่สบาย ทอดพระเนตรเห็นแล้วเสด็จตรงเข้าไปประทับแผ่น ณ ศิลานั้น ก็มิได้มีอันตราสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยอำนาจพระบารมี เมื่อเสด็จกลับวันสั่งให้ทำการชะลอลงมาก่อเป็นแท่นไว้ที่วัดราชาธิวาส ครั้งภายหลังเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว (รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ดำรัสสั่งให้นำไปไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสนาราม อนึ่งทรงได้เสาศิลาจารึกอักษรเขมรเสาหนึ่ง จารึกอักษรไทยโบราณเสาหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น
ที่นี่พบศิลาจารึกหลักนี้ไม่ปรากฎแน่ชัด แต่คิดว่าจารึกนี้คงจะใกล้ๆ กับพระแท่นมนังคศิลา เพราในจารึกหลักนี้ด้านที่สามมีกล่าวถึงพระแท่นมนังคศิลา ซึ่งทำให้คิดว่า ศิลาจารึกหลักนี้จะได้ในเวลาฉลองพระแท่นนั้น เพราะฉะนั้นศิลาจารึกหลักนี้คงจะอยู่ใกล้ๆ กับพระแท่นนั้น คือ บนเนินปราสาทนั้นเอง พระแท่นนั้น เมื่อชะลอลงมากรุงเทพฯ แล้ว เดิมเอาไว้ที่วัดราชาธิวาส ก่อทำเป็นแท่นที่ประทับไว้ตรงใต้ต้นมะขามใหญ่ ข้างหน้าพระอุโบสถ
ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2394 ได้โปรดให้เอามาก่อแทนประดิษฐานไว้ที่หน้าวิหารพระคันธาราฐในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อยู่มาจนถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเศกสมโภชใน พ.ศ. 2545 จึงโปรดให้ย้ายไปทำเป็นแท่นเศวตฉัตรราชบัลลังก์ ประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทปรากฎอยู่ในทุกวันนี้
ส่วนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนั้น ครั้นพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศ โปรดให้ส่งหลักศิลานั้นมาด้วย
ภายหลังเมื่อได้เสวยราชย์ พระเจ้าเกล้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ย้ายจากวัดบวรนิเวศ เอาเข้าไปตั้งไว้ศาลารายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามข้างด้านเหนือ พระอุโบสถหลังที่สองนับแต่ทางตะวันตก อยู่ ณ ที่นี้ต่อมาช้านานจนปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2466 จึงได้ย้ายเอามารวมไว้ที่หอพระสมุด
เรื่องหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ที่นักปราชญ์ชาวยุโรปแต่งไว้ในหนังสือต่างๆ นั้น มีอยู่ในบัญชีท้ายคำนำภาษาฝรั่งแล้ว ส่วนนักปราชญ์ไทยแต่ขึ้นนั้นได้เคยพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณเล่มที่ 6 หน้า 3574 ถึง 2577 ในหนังสือเรื่องเมืองสุโขทัย ในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง และในประชุมพงศาวดารภาคที่หนึ่ง
เรื่องที่มีในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนี้ แบ่งออกได้เป็นสามตอน ตอนที่ 1 ตั้งแต่บรรทัดที่ 1 ถึง 18 เป็นเรื่องพ่อขุนรามคำแหงเล่าประวัติของพระองค์ตั้งแต่ประสูติจนได้เสวยราชสมบัติ ใช้คำว่า “กู” เป็นพื้น
ตอนที่ 2 ไม่ใช่คำว่า “กู” เลย ใช้ว่า “พ่อขุนรามคำแหง” เล่าเรื่องประพฤติเหตุต่างๆ และธรรมเนียมในเมืองสุโขทัย เรื่องสร้างพระแท่นมนังคศิลา เมื่อ 1214 เมื่อสร้างพระมหาธาตุ เมืองศรีสัชนาไลย เมื่อ ม.ศ. 1207 และที่สุดเรื่องประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ.1205 ตอนที่ 3 ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดสุดท้าย เข้าใจว่าจารึกภายหลังปลายปี เพราะตัวอักษรไม่เหมือนกับตอนที่ 1 และที่ 2 คือ ตัวพยัญชนะสั้นกว่าที่สระที่ใช้ก็ต่างกันบ้าง ตอนนี้ (ที่ 3 ) เป็นคำสรรเสริญและขอพระเกียรติคุณพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตเมืองสุโขทัยที่แผ่ออกไปในครั้งกระโน้น
ผู้แต่ศิลาจารึกนี้ เพื่อจะเป็นพ่อขุนรามคำแหงทรงเล่าเอง มิฉะนั้นก็คงตรัสสั่งให้แต่งและจารึกไว้ มูลเหตุที่จารึกไว้คือเมื่อ ม.ศ. 1214 (พ.ศ.1835) ได้สะกัดกระดานหินพระแท่นมนังคศิลา ประโยชน์ของพระแท่นมนังคศิลาก็คือ ในวันพระอุโบสถพระสงฆ์ได้ใช้นั่งสวดพระปาติโมกข์และแสดงธรรมถ้าไม่ใช้วัดอุโบสถพ่อขุนรามคำแหงก็ได้ประทับนั่งพระราชทานราโชวาทแก่ข้าราชบริพาร และประชาราษฎรทั้งปวงที่มาเฝ้า และเมื่อปี ม.ศ.1214 (พ.ศ.1835) นับเป็นปีที่สำคัญมากในรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหง เพราะเป็นปีแรกที่ได้แต่งตั้งราชฑูตไปเมืองจีน
ศิลาจารึกกรุงสุโขทัยที่มีอยู่ในหอสมุดนี้ เริ่มรวบรวมแต่ในรัชกาลที่ 3 มีจดหมายเหตุปรากฎว่า เมื่อ พ.ศ. 2176 พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ประทับอยู่ ณ วัดราชาธิราชเสด็จขึ้นไปธุดงค์ทางมณฑลฝ่ายเหนือถึงเมือพิษณุโลก สวรรคโลก และเมืองสุโขทัย เมื่อเสด็จไปถึงเมืองสุโขทัยครั้งนั้นทอดพระเนตรเห็นศิลาจารึก 2 หลักคือ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง (หลักที่ 1 ) และศิลาจารึกภาษาเขมรของพระมหาธรรมราชาลิไทย (หลักที่ 4) กับแท่นมนังศิลาอยู่ที่เนินปราสาท ณ พระราชวังกรุงสุโขทัยเก่า ราษฎร เช่นสรวงบูชานับถือกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสถามว่าของทั้งสามสิ่งนั้นเดิมอยู่ที่ไหน ใครเป็นผู้เอามารวบรวมไว้ตรงนั้น ก็หาได้ความไม่ ชาวสุโขทัยทราบทูลว่าแต่ว่าเห็นรวบรวมอยู่ตรงนั้นมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายายแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิจารณาดูเห็นว่าเป็นของสำคัญจะทิ้งไว้เป็นอันตรายเสีย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งมากรุงเทพฯเดิมเอาไว้ที่วัดราชาธิวาส ทั้งสามสิ่ง พระแท่นมนังคศิลานั้นก่อทำเป็นแท่นที่ประทับไว้ตรงใต้ต้นมะขามใหญ่ ข้างหน้าพระอุโบสถ ครั้นเสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศ โปรดฯ ให้ส่งหลักศิลาทั้งสองนั้นมาด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามอ่านหลักศิลาของพ่อขุนรามคำแหงเอง แล้วโปรดฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณะเจ้าพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พร้อมด้วยล่ามเขมรอ่านแปลหลักศิลาของพระธรรมราชาลิไทย ได้ความทราบเรื่องทั้งสองหลัก ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ เสวยราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2394 ต่อมาจึงโปรด ฯ ให้ย้ายพระแท่นมนังคศิลามาก่อแท่นประดิษฐานไว้หน้าวิหารพระคันธารราฐในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม...
“ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2450 พระยาโบราณราชธานินทร (พร เดชะคุปต์) ได้พบศิลาจารึก (หลักที่ 5 ) ที่วัดใหม่ (ปราสาททอง) อำเภอนครหลวงแขวงจังหวัดอยุธยาหลักหนึ่ง แต่มีรอยถูกลบมีจนตัวอักษรลบเลือนโดยมาก แต่ยังมีเหลือพอทราบได้ว่าเป็นจารึกกรุงสุโขทัย สืบถามว่าใครได้มาแต่เมื่อใดก็หาได้ความไม่ พระยาโบราณฯ จึงได้ย้ายมารักษาไว้ในอยุธยาพิพิธภัณฑ์สถาน กรมพระยาดำรงราชนุภาพเสด็จขึ้นไปทอดพระเนตร ทรงพยายามอ่านหนังสือที่ยังเหลืออยู่ ได้ความว่าเป็นศิลาจารึก ของพระธรรมราชาลิไทย คู่กับหลักภาษาเขมรซึ่งอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือ จารึกความอย่างเดียวกัน เป็นภาษาเขมรหนึ่งหลัก ภาษาไทยหนึ่งหลัก เดิมคงตั้งคู่กันไว้ จึงรับสั่งให้ส่งหลักศิลาจารึกนั้นลงไปไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยกันกับหลักภาษาเขมร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มาจากเมืองสุโขทัยศิลาจารึก ทั้ง 3 หลักนั้นอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนย้ายมายังหอพระสมุด เมื่อ พ.ศ. 2467
อ้างอิง: ชนม์สวัสดิ์ ชมพูนุช.2514.พระราชประวัติ 9 มหาราช.กรุงเทพฯ: พิทยาคาร
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูป ณ มณฑลพิธี กองหัตถศิลป กรมศิลปากร วันจันทร์ที่ ๗ ธันวาคม ปีพระพุทธศักราช ๒๕๑๓ เวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา
เมื่อกรมศิลปากรได้ปั้นหล่อพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และภาพจำหลักนูนแสดงเหตุการณ์เรียบร้อยแล้ว จังหวัดสุโขทัยได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมรูปจากกองหัตถศิลป กรมศิลปากร ไปยังปะรำประดิษฐานพระบรมรูปชั่วคราว เนินปราสาท เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ปีพระพุทธศักราช ๒๕๑๘ และได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมรูปจากเนินปราสาท ไปประดิษฐานยังแท่นฐานปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ปีพระพุทธศักราช ๒๕๑๙
ด้วยพระเกียรติคุณ พระราชกรณียกิจที่ทรงสร้างไว้แก่ประเทศชาตินานัปการ มุ่งประโยชน์สุขของราษฎรเป็นสำคัญ การรวมประเทศ การแผ่ขยายอาณาเขต การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และการประดิษฐ์คิดค้นอักษรไทย อันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาติ ประชาชนชาวไทยจึงร่วมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ ประดิษฐานไว้ ณ เมืองกรุงเก่าสุโขทัย เพื่อเป็นที่เคารพสักการะ และเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณให้ยั่งยืนสืบไปชั่วกาลนาน
คำจารึกพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ณ จังหวัดสุโขทัย
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระโอรสในพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระนางเสือง
ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด เมื่อพระชนมมายุ ๑๙ ชรรษา
เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สามแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๑๘๒๒
ทรงประดิษฐ์อักษรไทย เมื่อพุทธศักราช ๑๘๒๖
โปรดเกล้าฯ ให้สลักศิลาจารึกลงเหตุการณ์ เมื่อพุทธศักราช ๑๘๓๕
ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ชองชาติสืบมา
ทรงกระทำสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน
พระราชทานพระราชกำหนดกฎหมายและทรงบำรุงการพระศาสนาให้รุ่งเรือง
บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดรัชสมัยของพระองค์
สวรรคตเมื่อพุทธศักราช ๑๘๔๒
ประชาชนชาวไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
จึงพร้อมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์นี้ไว้เพื่อประกาศเกียรติคุณชั่วนิรันดร์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น